สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การลักลอกทางวิชาการในบริบทของการวิจัย (Plagirism in Academic Research) ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ชั้น 5 อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผอ. สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดงาน
โดย อาจารย์ ดร. ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร
อาจารย์ ดร. ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ขณะบรรยาย
สรุปประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
ความหมาย การลักลอกทางวิชาการ (Plagirism) คือ การขโมยผลงานและความคิดของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
ลักษณะของการเข้าข่ายลักลอกผลงานทางวิชาการ เรียงลำดับจากระดับร้ายแรงที่สุด มีดังนี้
- Identity theft การขโมย ทำซ้ำ จัดซื้อ จัดจ้างเอกสารทั้งชุด และถือว่าเป็นงานของตนเอง
- Copy cat คัดลอกส่วนของงานจำนวนมาก (ทั้งย่อหน้า หรือส่วน) ไม่มีการแก้ไขงานที่คัดลอก ไม่ได้อ้างถึงต้นฉบับ
- Cherry pick คัดลอกส่วนของงานจำนวนมาก (ทั้งย่อหน้า หรือส่วน) แก้ไขบางคำหรือบางวลี ไม่ได้อ้างถึงต้นฉบับ
- Mitosis นำงานเดิมของตนเองทั้งชิ้นมาใช้ ไม่ได้อ้างอิงตนเอง (Self plagiarism)
- Recycle นำงานเดิมของตนเองบางส่วนแต่จำนวนมากมาใช้ ไม่ได้อ้างถึงตนเอง
- Remix ถอดความจากหลายแหล่งแล้วนำมาผสมกัน ไม่ได้อ้างอิงถึงเจ้าของผลงาน
- Ghost citation อ้างอิงผลงานที่ไม่มีอยู่จริง แต่งเรื่องในสิ่งที่แหล่งข้อมูลไม่ได้กล่าวไว้
- Half-n-half อ้างถึงผลงานจำนวนมากได้อย่างถูกต้อง แต่ไม่อ้างถึงแหล่งข้อมูลบางชิ้น
- Warp ตีความไม่ถูกต้อง อ้างถึงผลงานในบริบทที่ไม่ตรงกับแหล่งอ้างอิง
- Mosaic อ้างอิงทุกอย่างถูกต้อง แต่มีส่วนที่เป็นความคิดของตนเองน้อยมาก
- Reflection อ้างอิงทุกอย่างถูกต้อง แต่งานยังสะท้อนงานของคนอื่น
- Miscue รายการอ้างอิงมีส่วนที่ผิดเล็กน้อย เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง ปีที่พิมพ์ หรือใช้คำผิด เป็นต้น
- Half hearted รายการอ้างอิงถูกต้องทุกส่วน แต่ขาดข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้อื่นหาแหล่งที่มาได้ง่าย เช่น เลขหน้า URL, DOI ชื่อสำนักพิมพ์ เป็นต้น
การป้องกันการลักลอก
ในการเขียนผลงานวิจัย ควรมีความระมัดระวังในการใช้ข้อความ และรายการบรรณานุกรม/รายการอ้างอิง ซึ่งจะต้องมีรูปแบบถูกต้อง ครบถ้วน และจำนวนเหมาะสม
ข้อความที่นำมาเรียบเรียงในผลงานนั้น ต้องเกิดจากการพิจารณาว่าเป็นข้อความที่ควรค่าแก่การให้เครดิต (Credit worthy) ซึ่งจะมีเทคนิคในการนำข้อความเหล่านั้น มาโดย การถอดความ การสรุปความ และการคัดลอก
การถอดความ เป็นการเรียบเรียงข้อมูลและแนวความคิดที่สำคัญของผู้อื่นในรูปแบบใหม่
ขั้นตอนการถอดความ
- อ่านข้อความต้นฉบับ จนเข้าใจความหมายทั้งหมด
- ปิดข้อความต้นฉบับ แล้วเรียบเรียงใหม่ตามความเข้าใจของตนเอง
- เขียนกำกับว่าจะใช้ข้อความนี้อย่างไร ใส่คำสำคัญหรือวลีที่อธิบายประเด็นที่ถอดความ
- ตรวจสอบความถูกต้อง ความครบถ้วนของประเด็นที่ถอดความออกมา
- ใช้เครื่องหมาย “อัญประกาศ” รอบคำที่เป็นเอกลักษณ์หรือคำใหม่ที่ยืมมาจากต้นฉบับ
- บันทึกแหล่งที่มา
การสรุปความ หรือย่อความ คือ อ่านประเด็น ก ประเด็น ข ประเด็น ค แล้วสรุป
การคัดลอก คือ การเอาข้อความนั้นๆ มาเหมือนเดิมทุกประการจากต้นฉบับ ตั้งแต่ คำ/วลี/ประโยค/ย่อหน้า หรือแม้แต่เว้นวรรค รูปแบบการคัดลอก
- ข้อความไม่เกิน 3 บรรทัด
- เขียนแทรกไปในเนื้อหารายงาน
- ใส่เครื่องหมายอัญประกาศกำกับ
ตัวอย่าง
นิศาชล งามประเสริญ และ จิราวัลย์ จิตรถเวช (๒๕๕๘) พบว่า “วิธีการคัดเลือกตัวแปรอิสระเข้าสู่ตัวแบบโดยใช้วิธีการค้นหาแบบต้องห้ามที่ใช้ฟังก์ชั่นเป้าหมายเป็นค่าความคลาดเคลื่อนกำลังสองเฉลี่ยปรับด้วยฟังก์ชันการลงโทษ” เป็นวิธีการคัดเลือกตัวแปรอิสระที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นพหุที่ตัวแบบมีตัวแปรอิสระ 1 คู่มีความสัมพันธ์กันสูง
- ข้อความเกิน 3 บรรทัด
- ขึ้นย่อหน้าใหม่ และเว้นระยะจากริมหน้ากระดาษทั้งสองด้านเข้ามากกว่าเนื้อความส่วนอื่นในรายงาน
- ไม่ต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศกำกับข้อความตัวอย่าง
ตัวอย่างการคัดลอกข้อความเกิน 3 บรรทัด
การอ้างอิง
ให้ดำเนินการตามรูปแบบที่แต่ละ community วางเอาไว้ เช่น การลงผลงานในวารสาร หรือแต่ละสำนักพิมพ์ ที่จะมีการกำหนดรูปแบบให้ใช้การอ้างอิงไม่เหมือนกัน ในการเขียนรายการบรรณานุกรม/รายการอ้างอิง มีประเด็นสังเกต ดังนี้
- รูปแบบย่อหน้า/รายการ/เชิงอรรถ
- ประเภทของเอกสาร
- การจัดเรียงองค์ประกอบ เช่น ชื่อผู้แต่ง ปี ชื่อเรื่อง …
- การจัดเรียงรายการบรรณานุกรม
- เครื่องหมาย สัญลักษณ์
- การเว้นวรรค
- การเน้น (มีการให้เน้น ชื่อเรื่อง ชื่อวารสาร หรือชื่อการประชุม หรือไม่)
- ตัวอักษรเล็ก ใหญ่
- เมื่อมีมากกว่า 1 องค์ประกอบ (ผู้แต่งมากกว่า 3 คน มากกว่า 6 คน…)
- เมื่อไม่มีองค์ประกอบ เช่น หาปี หรือสำนักพิมพ์ ไม่พบ จะต้องเขียนอย่างไร
ปัจจุบันในการทำรายการบรรณานุกรม/รายการอ้างอิง มีเครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ในการจัดการบรรณานุกรม/รายการอ้างอิง อยู่หลายโปรแกรม ได้แก่
- BibDesk
- KBibTex
- JabRef
- Endnote
- RefWork
- Mendeley
- Zotero
กรณีที่ไม่มั่นใจ ควร
- เริ่มต้นจากความเข้าใจของตนเองก่อน
- อ้าง
- ถอดความ
- ใส่เครื่องหมายอัญประกาศหากคัดลอก
- ถามผู้รู้
- ขออนุญาต/ติดต่อเจ้าของผลงาน