SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
Board Game กับ ห้องสมุดในศตวรรษที่ 21
ตุลาคม 15th, 2019 by pailin

Board Game หรือเกมกระดาน เป็นอุปกรณ์เครื่องเล่นที่ปรากฏอยู่คู่สังคมมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น หมากรุก หมากฮอส หมากล้อมหรือโกะ จนกระทั่งในปัจจุบัน Board Game สมัยใหม่ได้มีการพัฒนาออกมาหลากหลายรูปแบบ มีทั้งแบบที่เล่นเองได้โดยง่าย และแบบที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มีการกำหนดกฎเกณฑ์ กติกา และเพิ่มเรื่องราว โดยออกแบบร้อยเรียงเข้าไว้ในขั้นตอนการเล่นเกม จึงทำให้ผู้เล่นต้องศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียดของเกมก่อนที่จะเล่น ในระหว่างที่เล่นเกม ต้องคิดวางแผนแก้ไขปัญหา รวมทั้งมีปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ที่กำลังล้อมวงเล่นเกมในขณะนั้น ส่งผลให้ผู้เล่นเกิดการพัฒนาทางความคิด เสริมสร้างทักษะที่ดีให้กับผู้เล่น ทั้งยังสร้างความสนุกสนาน ให้บันเทิงกับผู้เล่นได้เป็นอย่างดี

ด้วยคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว ทำให้ห้องสมุดหลายแห่งพิจารณานำ Board Game เข้ามาให้บริการ เพื่อเป็นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างพัฒนาการของเยาวชน ให้มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักแก้ปัญหา สามารถสื่อสาร และร่วมงานกับคนอื่นได้ ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญของคนในศตวรรษที่ 21 หรือที่เรียกแบบย่อ ว่า 4Cs ซึ่งย่อมาจาก

  • Creativity      ความคิดสร้างสรรค์ การใช้จินตนาการสร้างสิ่งใหม่ สิ่งที่ดีกว่า
  • Critical Thinking      การคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุผล รู้จักแก้ปัญหา
  • Communication       การสื่อสาร ความสามารถในการใช้ภาษา เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ
  • Collaboration      ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อทำงานให้สำเร็จได้

Board Game สามารถจัดกลุ่มแบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามช่วงอายุของผู้เล่น เช่น 6+ 10+ 14+ แบ่งตามจำนวนผู้เล่น เช่น 2 คน 3-4 คน จนถึงเล่นกันเป็นทีม แบ่งตามเนื้อหาของเกม หรือแบ่งตามรูปแบบลักษณะของเกม ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1. Family Game 

เกมที่มีกติกาการเล่นเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะกับผู้เล่นทุกเพศ ทุกวัย เล่นได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่จำเจ เช่น Survive , Marrakech , Sitting Ducks Gallery

 

2. Party Game

เกมที่ต้องล้อมวงเล่นกันเป็นกลุ่ม ทั้งแบบกลุ่มเล็กๆ และจะสนุกสนานมากยิ่งขึ้นเมื่อเล่นกันเป็นกลุ่มใหญ่ เช่น Dixit ,Muse ,Bang, Dream on , Exploding Kittens

 

3. Deduction Games

เกมที่มีพื้นฐานมาจากกลุ่ม Party Game โดยเพิ่มเติมเงื่อนไขหรือกติกาเข้าไป ที่ทำให้ผู้เล่นต้องใช้เหตุผลเชิงตรรกะ ชิงไหวพริบ คอยจับสังเกตผู้เล่นรอบวง พิจารณาว่าตนเองกำลังได้เปรียบหรือเสียเปรียบผู้เล่นคนอื่น และหาวิธีเอาตัวรอดจากการตกเป็นรองคู่ต่อสู้ เช่น Coup , Avalon , Werewolf , Salem 1692 , Spyfall , Serial Killer

4. Strategy Game

เกมที่มีรายละเอียดในกติกาหรือมีความซับซ้อน ผู้เล่นต้องรู้จักวางแผน ใช้ชั้นเชิง และมีกลยุทธ์ในการเอาชนะผู้ร่วมเล่นเกม เช่น Catan , Splendor , Modern Art

 

5. Cooperative Games

เกมที่ผู้เล่นทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันในการเล่น ร่วมกันทำภารกิจ เอาชนะเป็นกลุ่มเมื่อพิชิตเป้าหมายเกมได้สำเร็จ  เช่น Pandemic , Aeon’s End , Robinson Crusoe

6. Classic Games

เกมที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีต แต่ยังคงความนิยมอยู่ ปัจจุบันยังมีผู้สนใจเล่น ส่วนใหญ่จะมีการแบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย หรือ จำกัดจำนวนผู้เล่นตามโครงสร้างของอุปกรณ์เกม เช่น Checkers , Chess , Othello , Dominoes

 

จะเห็นได้ว่า Board Game ในสมัยใหม่นี้ ถูกออกแบบให้มีวิธีการเล่นที่สามารถใช้เสริมสร้างทักษะที่ดีให้แก่ผู้เล่นในหลายด้านได้พร้อมๆ กัน สามารถใช้พัฒนาความคิด ฝึกสติปัญญา ทั้งยังให้ความสนุกสนาน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นด้วยกันได้ ซึ่งเกมที่ออกมาใหม่ในช่วงปีหลังๆ มานี้ มักมีลักษณะที่ผสมผสานกัน คือ เป็นได้ทั้งแบบ Party Game , Deduction Games และ Strategy Game เรียกได้ว่าเกมเดียวตอบโจทย์ผู้เล่นได้หลายกลุ่ม จนทำให้ Board Game หลายตัวกลายเป็นเกมฮิตยอดนิยมติดต่อกันหลายปี

ในการพิจารณาเลือก Board Game เข้ามาให้บริการภายในห้องสมุดนั้น ควรจัดซื้อให้มีความหลากหลายรูปแบบในการเล่น คละระดับความยากง่าย เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อผู้ใช้บริการได้ทุกกลุ่มคน และควรซื้อซองใส่การ์ดมาใช้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้การ์ดช้ำจากการสัมผัส ซึ่งการ์ดของแต่ละเกมนั้นจะมีขนาดไม่เท่ากัน บางเกมจะมีผลิตใหม่เป็นภาษาไทย ทำให้การ์ดและอุปกรณ์ในกล่องอาจมีขนาดไม่เท่าเดิม  ทั้งนี้ สามารถศึกษาหาข้อมูลและรายละเอียดของเกมแต่ละอย่างเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์เกี่ยวกับ Board Game เช่น Board Game Geek (https://boardgamegeek.com)   ,  GameHub HQ  (https://gamehubhq.com)  ,  Board Game Finder (https://www.boardgamefinder.net)

 

รายการอ้างอิง

GameHubHQ. (2018). Types of Board Games. เข้าถึงได้จาก: https://gamehubhq.com/types-of-board-games สืบค้น 9 ตุลาคม 2562.

 


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa