SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
บันทึกความทรงจำกับการทำ Oral history : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า
มิถุนายน 30th, 2019 by matupode

 


Oral history  ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า เป็นงานอย่างหนึ่งของนักจดหมายเหตุ ถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น เพราะโดยปกตินักจดหมายเหตุจะให้ความสำคัญกับเอกสารลายลักษณ์ หรือเอกสารต้นฉบับเป็นอันดับแรก นั่นเพราะบางครั้งองค์ ความรู้ ประสบการณ์ที่คนๆ หนึ่งมี ความเชี่ยวชาญก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นักจดหมายเหตุจึงต้องหาวิธีการต่อยอดองค์ความรู้เหล่านั้นไม่ให้สูญหาย ประกอบกับเอกสารต้นฉบับบางครั้งเนื้อหาของเอกสารก็ไม่ได้สมบูรณ์เสมอไป การได้มาซึ่งความครบถ้วนของข้อมูลจึงเป็นงานส่วนหนึ่งของนักจดหมายเหตุ

Oral history หรือ “ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า” หมายถึง การบันทึก อนุรักษ์ และตีความหมายของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวและความเห็นของผู้เล่าเหตุการณ์ที่ได้จากการสัมภาษณ์ เป็นการสร้างข้อมูลที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สัมภาษณ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่ใช่หลักฐานที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นการสัมภาษณ์เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ผ่านประสบการณ์นั้นโดยตรง หรือเป็นเรื่องราวชีวิตของผู้ถูกสัมภาษณ์เอง การหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากการสัมภาษณ์เป็นหลักฐานประเภทหนึ่ง นอกเหนือจากหลักฐานโบราณคดีตัวเขียน หลักฐานประเภทสิ่งของ และภาพบันทึกต่างๆ

ผู้เขียนเริ่มรู้จักคำว่า Oral history ตอนมาเริ่มงานจดหมายเหตุใหม่ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2541 เนื่องจากเป็นช่วงแรกๆ ในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยฯ จึงจัดพื้นที่ทำงานชั่วคราวให้อยู่กับโครงการพิเศษสภามหาวิทยาลัยฯ ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 3 อาคารอำนวยการ (ปัจจุบันคือ พื้นที่ของคณะนิเทศศาสตร์) และให้หอจดหมายเหตุอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ ซึ่งผู้เขียนขอเรียกท่านว่า “อาจารย์หมอ” ตอนนั้นอาจารย์หมอกำลังทำงานวิจัยเรื่อง ” 90 ปีมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งบนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า” และหนังสือเรื่อง “ร้อยคำบอกเล่าเรื่องมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ที่ได้รวบรวมคำบอกเล่าจากการสัมภาษณ์ผู้บอกเล่าจำนวน 100 คนที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามอาจารย์หมอไปสัมภาษณ์คุณทรงสิน คุณัตถานนท์ นั่นคือจุดเริ่มแรกที่ได้รู้จักคำว่า Oral history และอีกครั้งเมื่อได้ไปเรียนด้านจดหมายเหตุเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์หมอได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อบรรยายในรายวิชาการจัดทำประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า นับว่าอาจารย์หมอ คือครูคนแรกของผู้เขียนในการทำ Oral history และจากรายวิชานี้เองที่ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้เป็นผู้สัมภาษณ์ จำได้ว่าอาจารย์ประจำวิชา ซึ่งเป็นอาจารย์จากกรมประชาสัมพันธ์ ให้พวกเรา (เพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน) ทำรายงานเรื่อง “บทบาทวิทยุกระจายเสียงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2” ซึ่งจะต้องไปสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณสมาน (ใหญ่) นภายน และร่วมสัมภาษณ์ คุณดนัย ศรียาภัย

สัมภาษณ์คุณสมาน (ใหญ่) นภายน

สัมภาษณ์คุณดนัย ศรียาภัย

คุณสมาน (ใหญ่) นภายน ซึ่งใครๆ และผู้เขียนจะเรียกท่านว่า “ลุงใหญ่” ท่านเป็นนักดนตรีสังกัดกรมโฆษณาในสมัยนั้นหรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ส่วนคุณดนัย ศรียาภัย เคยทำงานในแผนกควบคุมกองวิทยุกระจายเสียง กรมโฆษณา (พ.ศ.2488) ซึ่งในช่วงสัมภาษณ์ (พ.ศ. 2547) ท่านดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านข่าวของไทยทีวีสี ช่อง 3 จากการได้สัมภาษณ์ทั้งสองท่าน ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าไม่ใช่แค่ความรู้ที่เราจะได้จากท่านเพื่อทำรายงาน แต่เราได้อะไรจากท่านมากกว่านั้น ความเมตตา ความเอื้ออารี ความไม่ถือตัวของท่าน ทำให้เราผ่อนคลาย ไม่เกร็งเวลาสัมภาษณ์ และนี่คือเสน่ห์ของความรู้ที่ได้จากการทำประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า ที่เราจะไม่มีโอกาสได้จากหนังสือหรือเอกสารลายลักษณ์

สำหรับผู้เขียนการได้มีโอกาสได้รู้จักบุคคลทั้ง 3 ท่าน ไม่ว่าจะเป็นคุณทรงสิน คุณัตถานนท์ คุณดนัย ศรียาภัย และลุงใหญ่ นภายน นับเป็นช่วงเวลาและความทรงจำดี ๆ ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถบรรยายได้ จนต้องมาเป็นที่มาของบทความนี้ “บันทึกความทรงจำกับการทำ Oral history  ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า”

งานต่อไปของหอจดหมายเหตุ ก็จะมีการใช้ Oral history เพื่อจัดทำ Hall of Fame สำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้มีการเผยแพร่ขึ้นเว็บไซต์ต่อไปค่ะ

เอกสารอ้างอิง
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ และคณะ. (2543). 90 ปีมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งบนเส้นทางประวัติศาสตร์ สังคมไทย : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า. สมุทรปราการ : สภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ และคณะ. (2543). ร้อยคำบอกเล่าเรื่องมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง. สมุทรปราการ : สภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.
ดนัย ศรียาภัย. (2547 พฤษภาคม 14). อาคารดิอิมโพเรียม ฝ่ายข่าว ช่อง 3. สัมภาษณ์.
สมาน นภายน. (2547 พฤษภาคม 28). บ้านลุงใหญ่. สัมภาษณ์.


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa