ราชกิจจานุเบกษา (Royal Thai Government Gazette เรียกสั้น ๆ ว่า Government Gazette) เป็นหนังสือที่ได้รวบรวมคำประกาศของทางราชการ แปลว่า “เป็นที่เพ่งดูราชกิจ” เริ่มจัดพิมพ์ขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401
หน้าปกราชกิจจานุเบกษา
ราชกิจจานุเบกษา มีกำหนดออกเป็นรายสัปดาห์ โดยสำนักงานราชกิจจานุเบกษา สำหรับลงประกาศเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนประกาศของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมทั้งประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท ปัจจุบันมีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดพิมพ์ จะมีรูปเล่มที่คุ้นตากัน ก็คือ มีตัวอักษรและตราครุฑสีดำอยู่บนหน้าปกสีขาว จะขึ้นลำดับเล่มใหม่ทุกปี เริ่มตอนที่1 ในช่วงของต้นเดือนมกราคม มีขนาดของตัวเล่มคือ กว้าง 14.5 ซม. ยาว 21 ซม.
ราชกิจจานุเบกษาที่มีในห้องสมุดกฎหมาย ศูนย์บรรณสารสนเทศ
ราชกิจจานุเบกษานับเป็นหนังสือที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากของทางราชการ ซึ่งใช้สำหรับการประกาศกฎหมาย ข่าวสารสำคัญของบ้านเมือง และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลย้อนหลัง ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงให้กับผู้ที่กำลังศึกษาทางด้านคณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์
สำหรับราชกิจจานุเบกษา ที่มีอยู่และให้บริการในห้องสมุดกฎหมาย ปัจจุบันได้มีการจัดเก็บ รวบรวมไว้ให้บริการอยู่ที่ชั้น 6 งานวารสารและเอกสาร แผนกบริการสารสนเทศ ซึ่งฉบับแรกที่มีให้บริการจะเป็น ปี พ.ศ. 2534 จนถึง ปี พ.ศ. 2556 รวบรวมไว้เป็นฉบับเย็บเล่มจัดเรียงตามปี พ.ศ. มีการเว้นช่วงการบอกรับไประยะเวลาหนึ่ง สืบเนื่องจากสามารถค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาโดยตรง และรวดเร็วกว่าการค้นคว้าจากตัวเล่ม แต่ปัจจุบันทางคณะนิติศาสตร์ได้ขอความร่วมมือให้ทางห้องสมุดติดต่อบอกรับแบบตัวเล่มอีกครั้ง เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าจากต้นฉบับได้หลากหลายขึ้น
วิธีการสืบค้นข้อมูลราชกิจจานุเบกษา
สำหรับการสืบค้นราชกิจจานุเบกษา สามารถสืบค้นข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th
ตัวอย่าง การสืบค้นข้อมูล
1. ภาพแสดงหน้าจอหลักเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
2. คลิกที่ ประกาศราชกิจจาฯ
หน้าจอจะปรากฏราชกิจจานุเบกษาที่ประกาศล่าสุด การสืบค้นราชกิจจานุเบกษาที่ประกาศล่าสุดนี้ เป็นการสืบค้นข้อมูลแต่ละประเภทที่ประกาศใหม่ล่าสุด ซึ่งเรียงลำดับตามวันที่ประกาศ เล่มที่/ตอนที่ประกาศ จำนวนเรื่องที่ประกาศในครั้งนั้นๆ
3. กรณีคลิกที่ ค้นหาราชกิจจานุเบกษา
เป็นหน้าจอหลักของระบบสืบค้น ซึ่งการค้นหาข้อมูล สามารถแบ่งออกเป็นประเภทตามลักษณะการใช้งานได้ดังนี้
3.1 ค้นหาจาก ชื่อเรื่อง(เท่าที่ทราบ)
3.2 ค้นหาจาก ประเภทราชกิจจานุเบกษา
3.3 ค้นหาจาก เล่ม ตอน
3.4 ค้นหาจาก กำหนดช่วงเวลาการค้นหา (ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
3.5 ค้นหาจาก ชนิดของเรื่อง
ตัวอย่าง การค้นหาจาก ชื่อเรื่อง(เท่าที่ทราบ)
- ใส่ข้อมูลที่ต้องการค้นลงในช่อง แล้วคลิกค้นหา
- หน้าจอจะแสดงผลการสืบค้นตามตัวอย่างด้านล่าง โดยมีผลการสืบค้นได้จากข้อมูลทั้งหมด 6 รายการ จากนั้นสามารถดูรายละเอียดได้ตามต้องการ โดยคลิกเปิดดูรายละเอียด
- สำหรับการใช้วิธีค้นหา ตามข้อ 3.2-3.5 นั้น สามารถใส่คำค้นได้เช่นเดียวกัน เมื่อสามารถหาข้อมูลได้ตรงตามความต้องการแล้ว และคลิกที่รายละเอียด ระบบจะแสดงหน้าจอหลักขึ้นมาเพื่อให้ทำการบันทึกข้อมูล หรือสั่งพิมพ์ผลการค้นหา
แหล่งที่มา :
ภาพจากวิกิพีเดีย
ราชกิจจานุเบกษา http://www.ratchakitcha.soc.go.th
ศาลฎีกา. ศูนย์วิชาการงานคดี. คู่มือการสืบกฎหมาย (ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา) สืบค้นได้จาก http://www.ubu.ac.th/web/files_up/32f2017112913143125.pdf