เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 คณะภาษาและวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้จัดเทศกาลตรุษจีน บริเวณหอศิลปวัฒนธรรม และอาคารบรรณสาร
การเชิดสิงโต
การเชิดสิงโต
การเล่นโยโย่
นักเรียนที่มาร่วมงานให้ความสนใจชมนิทรรศการ
ภายในงานมีการจัดแสดงการเชิดสิงโต และการแสดงอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมกับการจัดนิทรรศการเทศกาลตรุษจีนที่โถงอาคารบรรณสาร ซึ่งเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจมากทีเดียว จึงขอสรุปมาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันดังนีค่ะ
ตรุษจีน เป็นวันหยุดตามประเพณีของจีนที่สำคัญที่สุดในประเทศจีน ตรุษจีนเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยาวที่สุดและสำคัญที่สุดในปฏิทินจีน มีตำนานและความสำคัญสำหรับชาวจีน ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศใดก็ตาม และเป็นวันหยุดสำคัญสำหรับชาวจีน
ตำนานวันตรุษจีน
ตามตำนานเล่าว่า เหนียน (nian) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าดุร้ายและน่ากลัวมาก ออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ จึงถูกพระเจ้าลงโทษให้ลงจากเขาได้เพียง 1 ครั้งใน 365 วัน ชาวบ้านจะสะสมเสบียงอาหารและปิดประตู หน้าต่าง ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เมื่อเหนียนกลับไปแล้ว ต่างก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีที่ไม่ถูกเหนียนทำร้าย ต่อมาชาวบ้านพบว่า เหนียน กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้คิดหาวิธีกำจัด เมื่อวันส่งท้านตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุกบ้านจึงติดกระดาษสีแดงไว้หน้าประตูบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้อง รัวกลองอย่างต่อเนื่อง เหนียนจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าและไม่กล้ามาอาละวาดอีก ผู้คนจึงออกมาจากบ้านกล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนานต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุข
ประเพณีปฏิบัติ
ประเพณีปฏิบัติในวันตรุษจีนมี 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว
วันจ่าย คือ วันก่อนวันสิ้นปี จะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ (ตี่จู้เอี้ย) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 1 วันที่แล้ว
วันไหว้
ตอนเช้ามืด จะไหว้ “ป้ายเล่าเอี้ย” เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง (ซาแซ ซำเช้ง) ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (โหวงแซ) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงิน กระดาษทอง
ตอนสาย จะไหว้ “ป้ายแป๋บ้อ” คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษ เงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับหลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
ตอนบ่าย จะไหว้ “ป้ายฮ่อเฮียตี๋”เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล
อาหาร หลังจากที่ใช้เซ่นไหว้นั้น สุดท้ายก็จะนำมารับประทานร่วมกันในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล
วันเที่ยว หรือวันถือ คือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่หนึ่ง (ชิวอิก) ของเดือนที่หนึ่งของปี เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้ ไม่จับไม้กวาด แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น และเป็นธรรมเนียมในการ นำส้มสีทอง ไปไหว้ขอพระและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก
อั่งเปา หรือซองแดง ซึ่งเด็กๆ จะชอบ เพราะผู้ใหญ่จะมอบให้ผู้น้อย สีแดง ของซองเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความโชคดี และเงินที่บรรจุภายในบางครั้งจะเป็นเลขนำโชค เช่น เลข 8 อ่านในภาษาจีนจะมีความหมายถึงความรุ่งเรือง หรือความร่ำรวย
การเชิดสิงโต จะเป็นการละเล่นที่เห็นกันในเทศกาลตรุษจีน การแสดงเชิดสิงโตนั้น เมื่อมีบ้านใดนำเอาซองรางวัลไปแขวนไว้บนยอดไม้ ยิ่งสูงเท่าใดผู้แสดงก็ต้องต่อตัวกันขึ้นไปเพื่อเเอาซองรางวัลนั้น การเชิดสิงโตแบบนี้เรียกว่า “ชิ่งจือไชชิง”
รายการอ้างอิง
เนื้อหาจากกิจกรรมเทศกาลตรุษจีน จากคณะภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ ห้องโถง ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559