ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้เข้าศึกษาดูงานหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 -12.00 น. โดยศึกษาแนวทางการประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และดูงานในส่วนของหอสมุด ซึ่งในส่วนของการดูงานหอสมุด นั้น มี ดร.อภิภู สิทธิภูมิมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการและพันธกิจพิเศษ เป็นผู้บรรยาย และนำชม

หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เปิดให้บริการ ตั้งแต่ 08.00 – 21.00 น. และช่วงสอบปลายภาค เปิดให้บริการ ถึง 24.00 น. ในอนาคตหอสมุดจะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
การให้บริการยืม-คืนหนังสือของมหาวิทยาลัยมหิดล
เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดล มีหลายวิทยาเขต หากจะยืมหนังสือจากหอสมุดฯ สามารถแจ้งขอรับบริการได้ที่เคาน์เตอร์ฯ ของห้องสมุดเครือข่าย หรือส่งคำขอใช้บริการออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของหอสมุดฯ โดยระบุชื่อหอสมุดที่สะดวกในการรับหนังสือที่จะยืมหรือส่งคืน โดยหอสมุดกลาง มีบริการรถรับ-ส่งหนังสือเป็นประจำทุกวัน ผู้ใช้บริการสามารถยืมหนังสือจากที่ไหนก็ได้ สะดวกที่ไหนก็ยืมหนังสือได้ที่นั่นเลย โดยไม่เสียค่าบริการใดๆ
การให้บริการตอบคำถามออนไลน์
อีกหนึ่งบริการที่น่าสนใจของทางหอสมุดฯ คือ มีนักประชาสัมพันธ์ คอยตอบคำถามต่างๆ ทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา www.li.mahidol.ac.th

พื้นที่ให้บริการของหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ อย่างน่าสนใจ ได้แก่
ชั้น 1 แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ โดยมีป้ายหรือชั้นหนังสือกั้นพื้นที่แต่ละโซนชัดเจน
โซนแรก เมื่อเข้ามาถึง จะพบกับ Relaxing Zone
Relaxing Zone
โซนนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากเดิมที่เป็นวิทยานิพนธ์ ให้เป็นพื้นที่นั่งอ่านเพิ่มมากขึ้น และเปิดให้บริการถึง 24.00 น. ซึ่งเป็นที่นิยมมากสำหรับนักศึกษาที่มาใช้บริการ สามารถนั่ง นอน ได้ตามความต้องการ และมีคอมพิวเตอร์ช่วยสืบค้นแบบหน้าจอสัมผัส

มีคอมพิวเตอร์ให้บริการจำนวนหลายเครื่องตั้งไว้ให้บริการอย่างทั่วถึง และมีป้ายบอกจุดต่างๆ ไว้ทุกจุด เพื่อสะดวกสำหรับนักศึกษา ที่มาใช้งานหรือมาศึกษาหาความรู้
เคาน์เตอร์ให้บริการ สีสันสวยงาม สะดุดตา มีป้ายบอกชัดเจนว่าจุดไหนบริการอะไร และการชำระค่าปรับสามารถจ่ายค่าปรับ ได้ง่าย ๆ ผ่านบริการ SCB Easy (แม่มณี)
มีการจัดมุมหนังสือต่างๆ และมุมนั่งอ่านส่วนตัว ไว้อย่างสวยงาม
หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จะมีป้ายบอกหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การทำ CPR ไว้ทุกเคาน์เตอร์บริการ ทั้งป้ายเล็ก ป้ายใหญ่
หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จะมีการตั้งต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าชต่างๆ หรือผงหมึก กรณีเครื่องปริ้น ก็จะวางต้นไม้ไว้ใกล้ๆ เพื่อช่วยดูดซับ ตามมาตรฐานของ Green Office

โซนต่อไป คือ โซน E-Lecture
เป็นพื้นที่ให้บริการเกี่ยวกับบันทึกย้อนหลังของวิชาต่างๆ ที่นักศึกษาอาจจะพลาดการเข้าฟังจากห้องเรียนรวมหรืออาจจะอยากฟังซ้ำๆ อีก เพื่อทบทวนวิชาที่เรียน เพราะหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้มีห้องควบคุม และอัดคลิปวิดีโอระหว่างการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ตามตารางเรียน ในห้องเรียนรวม เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสทบทวนบทเรียนก่อนสอบได้อีกด้วย และสามารถจองคิว E-Lecture ผ่าน Application “QueQ” ได้ด้วย
ภายในหอสมุดและคลังความรู้ฯ ยังมีตู้น้ำดื่มให้บริการภายในหอสมุดฯ ซึ่งมีทั้งน้ำร้อน และน้ำเย็นภายในเครื่องเดียวกัน สะดวก ประหยัดพื้นที่ ซึ่งเป็นการให้บริการที่ดีสำหรับผู้มาใช้บริการ เพราะบางครั้งผู้มาใช้บริการอาจจะต้องการจิบน้ำร้อน หรือ ต้องการดื่มน้ำเย็นๆ ให้ชื่นใจ ระหว่างการเข้ามาศึกษาหาความรู้ภายในหอสมุดฯ

หอสมุดและคลังความรู้ฯ มีมุมให้รับประทานอาหารก่อนเข้าใช้บริการห้องสมุดด้วย มีทั้งตู้แบบหยอดเหรียญ และแบบบริการตนเอง และนำไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์
มีจุดรับบริจาคถุงผ้าบริเวณทางเข้าห้องสมุด และตู้รับบริจาคหนังสือด้วย
ทางหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้มีการจัดทำมุมประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ของทางหอสมุดฯ และมีจุดสะสาง จุดรับบริจาคห่วงกระป๋อง ถุงน่อง เพื่อมอบให้มูลนิธิขาเทียม

ถัดมาห้องปฏิบัติการด้านการเงินการลงทุน Mahidol – SCB Investment Center
เป็นห้องศึกษาเรียนรู้ทางด้านการเงินการลงทุนจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลงทุน ของธนาคารไทยพาณิชย์มาให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับการเงินการธนาคาร ไว้สำหรับผู้สนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน การเล่นหุ้นและยังมีพื้นที่สำหรับให้ผู้ใช้บริการได้เข้ามานั่งประชุมกลุ่ม ทำงาน หรืออ่านหนังสือตามอัธยาศัย

ชั้นที่ 2 จะรวมหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2550 ขึ้นไป หรือเฉพาะปีใหม่ๆ ไว้ให้บริการ ส่วนหนังสือเก่ากว่าปี 2550 ย้ายไปรวมกันไว้อีกฝั่งหนึ่งของตัวอาคาร ซึ่งทำเป็นชั้นปิด ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการเข้าไปหยิบหนังสือ แต่ถ้ามีผู้ใช้บริการต้องการหนังสือ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปหยิบให้ ส่วนวิทยานิพนธ์ ย้ายไปอยู่ที่ชั้น 3 หนังสือ วารสาร บางส่วนยังอยู่ระหว่างการขนย้าย รอนำขึ้นชั้น
บริเวณ ชั้น 3 เป็นห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์

และยังมี พิพิธภัณฑ์ สื่อโสตทัศนวัสดุทางดนตรี เป็นห้องเก็บสื่อโสตทัศนวัสดุทางดนตรี เช่น แผ่นเสียง เทปคาสเซ็ท เลเซอร์ดิสก์ ซีดี เป็นต้น
ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ขอขอบคุณ วิทยากรทุกท่านและบุคลากรของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ในการให้คำอธิบายและให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น