เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้เขียนและบุคลากรของศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อเรื่อง Electronic Resource Selection Principle and API โดยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เชิญ Dr.Jin Chen จาก Shanghai Jiao Tong University Library มาเป็นวิทยากรในกิจกรรมดังกล่าว ขอสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
Shanghai Jiao Tong University Library มีการบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic resources) โดยใช้หลักการ Three-One-Rule หรือ Trisection Unity Rule โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ให้เข้มแข็ง ได้แก่
1. กลุ่มอาจารย์และนักศึกษา เป็นหลักในการพิจารณาความต้องการในการใช้
2. บรรณารักษ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา (Subject Librarians) เพื่อเป็นผู้แนะนำฐานข้อมูลแต่ละสาขาที่เหมาะสม
3. บรรณารักษ์จัดหาทรัพยากรสารสนเทศ (Acquisition Librarians) เพื่อให้เกิดความสมดุลในการบริหารจัดการและการควบคุมการใช้งบประมาณและทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์
ในการเลือกซื้อนั้น มีข้อควรพิจารณาคือ
1. ลักษณะของทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ จะพิจารณาเป็น package มากกว่าเป็นรายชื่อ และซื้อเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณทั้งหมด
2. องค์ประกอบในการพิจารณาเลือกซื้อ ได้แก่ ปริมาณ คุณภาพ การใช้ประโยชน์ และราคา
3. การประเมินผล มีการประเมินทั้งก่อนซื้อและหลังซื้อ (เมื่อมีการใช้งานแล้ว)
นอกจากนี้ วิทยากรได้กล่าวถึง การนำ API และโปรแกรม เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคุณภาพทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และการผลการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ประโยชน์ต่อไปจากข้อมูลที่ได้รับจาก API ของสำนักพิมพ์หรือของบริษัทที่ผลิตขึ้นมา เพื่อประโยชน์ในการใช้ ทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทั้งทรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณภาพ มีประโยชน์และมีประสิทธิผลทำให้ทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดหามานั้นมีคุณภาพสูงทั้งประสิทธิภาพและความถูกต้อง
ในการนำระบบมาวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์นั้น ระบบสามารถวิเคราะห์ออกมาได้หลายลักษณะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของ model ของระบบ โดยขึ้นอยู่กับ algorithm ที่ใช้ในการคำนวณ ค่า parameter ปริมาณตัวเลข และประเภทของข้อมูล ที่ผ่านเข้าไปในระบบเพื่อใช้ในการวิเคราะห์
ตัวอย่างเช่น
Electronic Resource Analysis System
Journal Database Evaluation Model
ซึ่งในบางระบบ สามารถให้ผลการวิเคราะห์ที่สะท้อนปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจได้หลายด้าน ทำให้ต้องนำค่าเหล่านั้นมาลำดับค่าคะแนนพร้อมกับค่าเฉลี่ยในภาพรวม เพื่อพิจารณากันในรายละเอียดถึงปัจจัยที่มีผลต่อประเด็นสำคัญในการเลือกใช้
Journal Database Evaluation Model
จากการเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลียนเรียนรู้ดังกล่าว
1. ทำให้ต้องมีการวางแผนการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น
2. ควรศึกษาการใช้ API หรือโปรแกรมมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณการใช้ เพื่อการจัดซื้อหรือบอกรับทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อประโยชน์ในด้านการวิเคราะห์ผลงานด้านการวิจัยในมุมมองต่างๆ เป็นต้น