ตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมาจนจะสิ้นสุดเดือนมีนาคม ที่ประชาชนคนไทยที่มีหน้าที่ในการเสียภาษีให้แก่รัฐ เพื่อนำเงินภาษีไปพัฒนาประเทศต่อไปนั้น ผู้เขียนซึ่งทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดี ในการยื่นแบบการเสียภาษีมาทุกๆ ปี ตั้งแต่ยังต้องกรอกรายการเสียภาษี รายการการลดหย่อน งง มาก งง น้อย จนเกิดความชำนาญ จนมาถึงมีการยื่นแบบภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ต ชีวิต Happy ขึ้นเยอะเลย ศึกษาวิธีการกรอกไปเรื่อย เพราะกรมสรรพากร ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ปรับเปลี่ยนแบบฟอร์มการกรอกอยู่เสมอๆ เหมือนกัน
เป็นประจำทุกปี ที่มักจะยื่นการเสียภาษี เกือบจะหมดเวลาการยื่น คนรอบข้างทั้งลูกน้อง เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ต่างได้รับเงินคืนภาษี จนพูดว่าเอาเงินที่ได้จากการคืนภาษีไปใช้หมดแล้ว บ้างก็บอกว่า ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม 2 ปีที่แล้วยื่นวันสุดท้ายเลย กลัวอยู่เหมือนกัน เพราะคนก็จะเฮโลยื่นทางออนไลน์วันนั้นกันเยอะ อาจจะทำให้ระบบเกิดปัญหาได้ ปีนี้ ได้จังหวะว่าง เลยได้ยื่นภาษีไปเมื่อวันก่อน เห็นซองเอกสารการเสียภาษี ที่เก็บไว้ในแต่ละปี เขียนกำกับหน้าซองไว้เรียบร้อย แถม save เก็บเป็นไฟล์ไว้ในคอมพิวเตอร์อีกต่างหาก จัดเก็บเป็นโฟลเดอร์เรียงตามลำดับ เลยให้เอะใจว่า ตกลงเราต้องเก็บเอกสารหลักฐานพวกนี้ กี่ปี จึงจะทำลายหรือลบได้ สอบถามไปในกลุ่มไลน์ได้มาหลายคำตอบ สุดท้ายมีน้องส่งคำตอบจากระบบสารานุกรมภาษี http://wiki.mof.go.th/mediawiki/index.php/ความรู้เกี่ยวกับภาษี_J มาให้อ่าน ในเว็บระบบสารานุกรมภาษี เขียนไว้ว่า “ตามกฏหมายภาษี – กำหนดให้ผู้เสียภาษีต้องเก็บเอกสารทางบัญชีและภาษีไม่น้อยกว่า 5 ปี ภายใต้เงื่อนไขต้องยื่นแบบทุกปี ทั้งนี้ไม่ว่าผู้เสียภาษี จะยื่นแบบภาษีถูกหรือยื่นผิดก็ตาม โดยปกติเจ้าพนักงานมีสิทธิประเมินย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี (ไม่นับปีปัจจุบัน) เช่น ถ้าปัจจุบันปี 2550 ก็ย้อน หลังได้คือปี 48 – 49 เป็นต้น แต่ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษี เจ้าพนักงานสรรพากรมีอำนาจประเมินขยายระยะเวลาได้ถึง 5 ปี ดังนั้น ผู้เสียภาษีจึงควรเก็บเอกสารให้เกิน 5 ปี (ทำลายเอกสารในปีที่หก) แต่ถ้าผู้เสียภาษีไม่เคยยื่นแบบเลย สรรพากรสามารถประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี” ถึงบางอ้อ
รายการอ้างอิง
ระบบสารานุกรมภาษี. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 จาก http://wiki.mof.go.th/mediawiki/index.php/ความรู้เกี่ยวกับภาษี_J