เกี๊ยว เมนูยอดฮิตของชาวจีนที่อยู่คู่แดนมังกรมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. 337 – พ.ศ. 763) มีที่มาและบทบาทที่น่าสนใจในวิถีชีวิตของชาวจีนมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มแรกนั้น เกี๊ยวนี้เกิดมาจากคุณหมอจางจงจิง (张仲景) ซึ่งเป็นหมอที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น คุณหมออยากให้คนป่วยได้กินอะไรร้อนๆ ที่มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก (ที่เป็นยาสมุนไพร) และแป้งในคำเดียว จึงคิดประดิษฐ์แป้งห่อไส้เนื้อและผักขึ้นมา โดยใช้วิธีต้มเพื่อให้ย่อยง่าย ก่อนจะมีคนนำไปพัฒนารูปร่างของมันให้ดูดีขึ้น เหมือนใบหูของผู้หญิงทำให้มีชื่อเรียกว่า 娇耳 เจียวเอ๋อร์ แปลว่าใบหูของสาวงาม ก่อนจะเพี้ยนเสียงมาเป็น เจียวจื่อ หรือเกี๊ยว (คนไทยเรียก) ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน เกี๊ยวมีทั้งแบบต้ม นึ่งและทอด และเป็นเมนูสำคัญที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลปีใหม่และงานแต่งงาน เนื่องจากในเทศกาลปีใหม่ คนจีนจะเปลี่ยนวิธีห่อเกี๊ยวให้เป็นรูปถุงเงิน เพื่อขอพรหรืออวยพรให้มีเงินทองไหลมาเทมา ซึ่งในงานแต่งนั้น เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องรับประทานเกี๊ยวดิบ 生饺子 เซิงเจียวจื่อ ที่พ้องเสียงกับ 生骄子 เซิงเจียวจื่อ ที่แปลว่าให้กำเนิดอภิชาตบุตร