ความรักใดจะไม่ปวดร้าว
พระราชนิพนธ์แปล ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากนวนิยายของ ชวนหนี ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมสมัยใหม่ อันส่งผลต่อนิยามของความรักในมิติต่างๆ โดยเฉพาะจากมุมมองของผู้หญิง ผู้เป็นทั้งแม่และภรรยา
ตัวเอกของเรื่องเป็นหญิงสาวสมัยใหม่ผู้มีศรัทธาต่อความรักและตัดสินใจแต่งงานด้วยความรักแม้จะไม่ได้รับการยินยอมจากพ่อแม่ เธอเสียสละเพื่อสามี ยอมส่งเสียสามีจนเรียนจบปริญญาโท และเธอตัดสินใจทำแท้ง เมื่อคิดว่าตนเองไม่พร้อมเป็นแม่ แต่สุดท้ายเธอยอมมีลูก เพราะเห็นแก่สามี ผู้แสดงท่าทีรักเด็กหนักหนา
การมีลูกทำให้เธอไม่าสามารถทำงานได้ ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูกและเป็นทุกข์ เพราะรู้สึกว่าตัวตนของเธอสลายไป แม้แต่ชื่อของเธอ ก็ไม่มีใครใช้เรียกอีกต่อไป ค่านิยมสมัยใหม่ที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงพึ่งพาตนเอง เป็นอิสระ เท่าเทียมกับชาย กลับทำให้เธอเป็นทุกข์แสนสาหัส จนคิดหนีลูกและสามี แต่ในที่สุดเธอก็ต้องกลับมาบ้าน เพราะเพื่อนรักผู้ที่เธอหวังว่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเธอกำลังป่วยหนัก ต้องให้แม่ผู้ชราดูแล และไม่อาจช่วยเธอได้
นวนิยายรักเรื่องนี้ เริ่มด้วยการตั้งคำถามกับค่านิยมเก่าที่บูชาเทิดทูนความรัก ทั้งความรักของพ่อแม่ ความรักของหนุ่มสาว ความรักของเพื่อน และจบลงอย่างชาญฉลาด ด้วยความตระหนักรู้ของตัวละครเอกว่า ไม่มีความรักใดจะไม่ปวดร้าว แต่ผู้จะเปลี่ยนความปวดร้าวนี้เป็นปิติสุขได้นั้นก็คือ ผู้มีความรักนั้นเอง (พระราชนิพนธ์คำนำ)